สาวเชียร์เบียร์เกิดขึ้นในไทยก่อนประเทศไทยจะผลิตเบียร์

ที่ใดมีเหล้าเบียร์  ที่นั่นย่อมมีความบันเทิง

รู้หรือไม่?

สาวเชียร์เบียร์เกิดขึ้นในไทยก่อนประเทศไทยจะผลิตเบียร์ !!!

#BeerPeopleFest2025

  เหล้าเบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับพิธีกรรมต่างๆตั้งแต่ยุคโบราณ ซึ่งแต่ละพิธีกรรมมักจะมีการเฉลิมฉลองและร้องรำทำเพลงอย่างครึกครื้นรื่นเริง ต่อมาในยุคสมัยใหม่ เมื่อเหล้าเบียร์กลายเป็นสินค้าและเกิดการตั้งร้านจัดจำหน่ายขึ้น รวมถึงยังเปิดให้ประชาชนเข้ามานั่งดื่มด่ำภายในพื้นที่ของร้านได้ เช่น บาร์เหล้า เบียร์ฮอลล์ และไนท์คลับ ทางผู้ประกอบกิจการก็จำเป็นต้องจัดหากิจกรรมความบันเทิงมานำเสนอที่ร้านของตนเพื่อดึงดูดใจลูกค้า ทั้งการแสดงดนตรีบรรเลง การขับขานบทเพลง มหรสพและการละเล่นสารพัด

ด้วยเหตุนี้ ภาพลักษณ์ของการดื่มเหล้าเบียร์จึงกลายเป็นวัฒนธรรมความบันเทิงไปโดยปริยาย กล่าวได้เลยว่า ถ้ามีการดื่มเหล้าเบียร์ที่ใด ก็จะต้องมีการจัดแสดงความบันเทิงที่นั่น หรือถ้ามีการจัดแสดงความบันเทิงที่ไหนก็ขาดมิได้ที่จะต้องมีเหล้าเบียร์มาเป็นเครื่องดื่มเสริมสร้างความสนุกสนาน ดังจะเห็นงานคอนเสิร์ตต่างๆที่มักจะมีผู้จัดจำหน่ายเหล้าเบียร์มาออกบูธเสียจนคุ้นชินสายตา

ในเทศกาลดนตรีระดับตำนานทั้งของสหรัฐอเมริกาและของโลกอย่าง Woodstock 1969 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเชิดชูสันติภาพตลอดช่วงวันที่ 15-17 สิงหาคม ค.ศ. 1969 ณ ท้องทุ่งฟาร์มวัวที่เรียกว่า Yasgur’s Farm ในเมืองไม่ห่างไกลจากรัฐนิวยอร์ก​ โดยมีศิลปินเพลงร็อคลือนาม พร้อมทั้งประชาชนผู้ใฝ่ฝันถึงเสรีและหลงใหลเสียงดนตรีหลายแสนชีวิตมารวมตัวกันอย่างล้นหลามนั้น เบียร์ได้กลายเป็นเครื่องดื่มสำคัญสำหรับผู้เข้าร่วมงานเทศกาลนี้ ดังปรากฏภาพถ่ายหญิงสาวผู้ถือกระป๋องเบียร์ไว้ในมือแล้วอมยิ้มอย่างเปี่ยมล้นความสุขจำนวนหลายภาพ  สะท้อนให้เห็นบรรยากาศและความสัมพันธ์ระหว่างเทศกาลดนตรีกับการดื่มเบียร์อันน่าประทับใจ นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายแก้วเบียร์และเหยือกเบียร์เป็นของที่ระลึกด้วย

เหล้าเบียร์ยังแพร่หลายมาสู๋สื่อบันเทิงนานาประเภท ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ที่มักนำเสนอภาพโฆษณาเบียร์ยี่ห้อต่างๆอย่างสร้างสรรค์ เช่นใช้ตัวการ์ตูนมิกกี้ เมาส์ (Mickey Mouse) หรือตัวการ์ตูนป๊อบอาย (Popeye) มาช่วยประชาสัมพันธ์เบียร์ ทางด้านบทเพลงก็มีการประพันธ์คำร้องโดยอ้างถึงเบียร์หรือเปรียบเปรยเบียร์เข้ากับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน เช่น เพลงคันทรี่จังหวะเร้าอารมณ์อย่าง There’s a Tear in My Beer ผลงานของ Hank Williams ที่เผยแพร่ครั้งแรกช่วงทศวรรษ 1950 ก่อนจะมาโด่งดังอีกครั้งช่วงทศวรรษ 1980 หรือเพลงอย่าง I Like Beer ผลงานของ Tom T. Hall. ที่ติดหูผู้ฟังในทศวรรษ 1970 เป็นต้น

ส่วนภาพยนตร์นั้น การดื่มเหล้าเบียร์ของตัวละครในฉากต่างๆย่อมจะปรากฏให้เห็นซ้ำบ่อย ที่นักดูหนังน่าจะคุ้นเคยกันดีก็คงมิพ้นภาพยนตร์หลายภาคอย่างเจมส์ บอนด์ (James Bond) ซึ่งพระเอกสายลับเป็นนักดื่มตัวยง หรือภาพยนตร์ตลกยุคหลังๆอย่าง The World’s End  (ออกฉาย ค.ศ. 2013) ที่ตัวละครก๊วนเพื่อนตระเวนกันไปดื่มเบียร์หลายร้านก่อนจะพบเจอกับมษุษย์ต่างดาว

สำหรับในเมืองไทย นับแต่เริ่มมีการเปิดบาร์เหล้า เบียร์ฮอลล์ และไนท์คลับเรื่อยมา ทั้งเหล้าและเบียร์ก็เกี่ยวข้องกับความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ โฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์พากันเสนอถึงกิจกรรมเริงรมย์ที่แต่ละร้านจัดเตรียมไว้รองรับลูกค้า เช่น การบรรเลงดนตรีแจ๊ส การเต้นรำ การเล่นบิลเลียด และการโชว์ระบำวาบหวิว ทั้งยังมีการนำตัวละครจากวรรณคดีไทยอย่างรามเกียรติ์มาใช้ในการช่วยประชาสัมพันธ์เบียร์ด้วย โดยเฉพาะหนุมาน หรือในช่วงทศวรรษ 2510 ก็มีการโฆษณาเบียร์สดที่มีทั้งโปรตีน วิตามินบี 2 และวิตามินซี

อีกความบันเทิงที่ชวนให้หนุ่มๆชาวสยามยุคนั้นรู้สึกตื่นเต้นก็คือ การที่ทางร้านจำหน่ายเหล้าเบียร์ได้มอบหมายให้หญิงสาวเป็นผู้เชิญชวนและเสิร์ฟเบียร์แก่ลูกค้านักดื่ม หรือที่เราเรียกติดปากกันในปัจจุบันว่า “สาวเชียร์เบียร์” นั่นแหละ ซึ่งร้านแห่งแรกสุดที่เริ่มต้นกิจกรรมเช่นนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 คือ บาร์เกษมสุข  ตั้งอยู่แถวสนามน้ำจืด ซึ่งปัจจุบันคือตรงบริเวณศาลาเฉลิมกรุง

ด้านภาพยนตร์ไทยยุคแรกๆก็นิยมแสดงให้เห็นฉากและตัวละครในร้านเหล้าหรือบาร์เบียร์ เช่นเรื่อง “หลงทาง” (ออกฉาย พ.ศ. 2475) มีฉากตัวละครชายหลายคนนั่งดื่มเหล้ากันและตัวละครหญิงถือแก้วเหล้าผลิรอยยิ้มเย้ายวนใจ  มิเว้นกระทั่งหนังผีอย่างเรื่อง “ผีตายซาก”  (ออกฉาย พ.ศ. 2480) ก็ยังมีตัวละครที่ประกอบกิจการเบียร์ฮอลล์ ยิ่งเป็นภาพยนตร์ภายหลังปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมาก็ยิ่งเห็นฉากและตัวละครที่สัมพันธ์กับเหล้าเบียร์เป็นจำนวนมาก เพราะเป็นเครื่องดื่มที่แสดงถึงความมีรสนิยม

ล่วงมาถึงช่วงยุคทศวรรษ 1960-1970 (ทศวรรษ 2500-2510) ยังมีนักร้องเพลงไทยสากลผู้ถ่ายทอดน้ำเสียงนุ่มนวลและโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อย่าง สุเทพ วงศ์กำแหง ซึ่งเขาขับขานบทเพลงประจำไนท์คลับหลายแห่งจนเป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยมอย่างยิ่งจากประชาชน กระทั่งมีผู้ตั้งฉายาให้ว่า “นักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์

เบียร์ยังเกี่ยวข้องเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งเป็นบทเพลงบอกเล่าเรื่องราวของผู้ยากไร้และส่งน้ำเสียงสนับสนุนความเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดสังคมที่ดีขึ้นกว่าเดิม หากต่อมาเพลงและดนตรีเพื่อชีวิตได้ถูกนำไปแสดงในโรงเบียร์จนกลายเป็นภาพจดจำของชาวไทย

ที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมจะยืนยันว่าเหล้าเบียร์และความบันเทิงเป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกันมาอย่างแน่นแฟ้น เพราะมีบทบาทในการสร้างความสุขให้กับประชาชนทั้งหลายเฉกเช่นเดียวกัน

มาย้อนรากเหง้าเรื่องเหล้าเบียร์ในแง่มุมความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างรื่นรมย์นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

 

Beer People Festival 2025

7-8-9 มีนาคม 2568

เวลา 11.00-23.00 น.

 

ที่ ช่างชุ่ย Creative Park ปิ่นเกล้า 

เข้าร่วมงานฟรี !!

แล้วเจอกัน 🍺

 

 

เอกสารอ้างอิง

  • ทิพย์วัลย์ ประยูรสุข (บรรณาธิการ). ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๙๙. นครปฐม: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), 2557

  • ส.พลายน้อย. วันก่อนคืนเก่า  ชีวิตชาวไทยสมัยบ้านยังดีเมืองยังงาม. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ,2543

  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. “‘เล่า’ เรื่อง ‘เหล้า’: ว่าด้วยความสัมพันธ์ครั้งเก่าของสุราเมรัยกับคนไทยตั้งแต่อดีต”. The MATTER (3 May 2020). ดูที่ https://thematter.co/thinkers/alcohol-and-thai-people-in-history/110457.     
  • Makower, Joel; Lang, Michael; Rosenman, Joel. Woodstock : The Oral History. Albany, N.Y. : Excelsior Editions, 2009.