รู้หรือไม่?
ห้ามขายเหล้าวันพระใหญ่
เริ่มต้นในสมัยที่รัฐสภาถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร
#BeerPeopleFest2025
เป็นสิ่งที่สร้างความงุนงงสงสัยให้กับทั้งนักดื่มรวมถึงประชาชนไทยทั้งหลายอยู่เรื่อยมาว่า เหตุใดจึงต้องมีกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระ
สำหรับการห้ามขายเหล้าเบียร์ในวันพระนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งออกโดยสภานิติบัญญัติซึ่งได้รับแต่งตั้งภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549
หลายมาตราของกฎหมายฉบับนี้แสดงออกถึงความพยายามควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหลายด้าน ทั้งการห้ามดื่มและห้ามโฆษณา ที่สำคัญเลยคือมาตรา 28 ที่ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีในการกำหนดเงื่อนไขและเวลาของการจำหน่ายเหล้าเบียร์ กระทั่งต่อมาในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงมีการอาศัยอำนาจตามมาตรานี้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระ
กระทั่งภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเพิ่มดีกรีความเข้มงวดการห้ามขายเหล้าเบียร์ในวันพระเข้าไปอีก
เหตุผลง่ายๆที่ผู้ออกกฎหมายดังกล่าวมักเอ่ยอ้างคงมิพ้นการที่เหล้าเบียร์คือสิ่งขัดต่อศีลธรรมอันดี ซึ่งก็ไม่ทราบว่าที่บอก “อันดี” นั้น ดีตามแบบของใครกัน อีกทั้งเมืองไทยยังเป็นเมืองพุทธ ควรยึดมั่นตามหลักศาสนาพุทธที่ห้ามดื่มสุราเมรัยและของมึนเมา การห้ามขายในวันพระย่อมจะเหมาะสมแล้ว
นั่นยังนำมาสู่อีกเรื่องหนึ่งที่ประชาชนไทยมักให้ความสนใจใคร่รู้หรือตั้งคำถามอยู่ซ้ำบ่อย อ้าว! ในเมื่อห้ามขายเหล้าเบียร์ในวันพระ เพราะความเป็นเมืองพุทธแล้ว ทำไมในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งมีการประกอบพิธีทางพุทธศาสนาเช่นกัน พระโคจึงสามารถกินเหล้าอันเป็นของกินหนึ่งในเจ็ดสิ่งที่ใช้เสี่ยงทายได้ และหากถ้าพระโคกินเหล้า ก็จะมีคำพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจและการค้าขายกับต่างประเทศจะดีขึ้น
นับแต่สมัยสุโขทัยมาถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ของกินเสี่ยงทายสำหรับพระโคจะมีเพียงแค่ 5-6 สิ่ง ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา หญ้า และน้ำ กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพิ่งมีการเพิ่มเหล้าให้เป็นของกินสำหรับเสี่ยงทายด้วยรวมเป็น 7 สิ่ง
เหตุผลของการเพิ่มเหล้านั้นยังไม่ปรากฏแน่ชัด แต่เดิมทีงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีกรรมแบบศาสนาพราหมณ์ เพิ่งจะมาพิธีกรรมแบบศาสนาพุทธเข้าไปในสมัยรัชกาลที่ 4 นี่เอง ที่น่าสนใจคือพอเพิ่มความเป็นพุทธเข้าไป ก็มีการเพิ่มเหล้าเป็นของเสี่ยงทายด้วย นั่นแสดงว่าแท้จริงแล้ว ความเป็นพุทธก็คงไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เหล้าเบียร์กลายเป็นของต้องห้ามกระมัง เว้นเสียแต่ผู้ที่ต้องการจะห้ามได้พยายามอ้างถึงความเป็นพุทธเอาเสียเอง
ตอนแรกๆที่เพิ่มให้เหล้าเป็นของกินเสี่ยงทายนั้น ก็ยังนึกกันไม่ออกหรอกว่า พอพระโคกินเหล้าแล้วจะพยากรณ์อย่างไร แต่เนื่องจากห้วงยามนั้น สยามกำลังติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง เหล้าที่พระโคกินจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่างประเทศ
นับแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา พระโคเสี่ยงทายก็น่าจะเคยลิ้มรสเหล้ามาแล้วหลายครั้ง เอาเป็นว่า ช่วงปี พ.ศ. 2540-2567 พระโคกินเหล้ามาแล้ว 8 ครั้ง
ลองมาลุ้นกันดูซิว่า แล้วในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พ.ศ. 2568 ที่จะมาถึงนี้ พระโคจะกินเหล้าอีกหรือไม่
มาย้อนรากเหง้าเรื่องเหล้าเบียร์ในแง่มุมความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างรื่นรมย์นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
Beer People Festival 2025
7-8-9 มีนาคม 2568
เวลา 11.00-23.00 น.
ที่ ช่างชุ่ย Creative Park ปิ่นเกล้า
เข้าร่วมงานฟรี !!
แล้วเจอกัน 🍺
เอกสารอ้างอิง
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ:ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. เรื่องพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัล พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5. ที่รฦกในการเริ่มนา ณ ทุ่งหลวง ตำบลพญาไท พ.ศ. 2463. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2463