รู้หรือไม่?
ประชาชนต้องต่อสู้กับกฎหมายมาทุกยุคสมัย เพื่อการผลิตเหล้าเบียร์ด้วยตนเอง !!!
#BeerPeopleFest2025
ประชาชนในพื้นที่ต่างๆทั่วโลกพากันผลิตเหล้าเบียร์ขึ้นเองอย่างเสรีเรื่อยมานับตั้งแต่โบราณกาล ทว่าเมื่อผู้ครองอำนาจได้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมเข้มงวดและเอื้อประโยชน์ให้นายทุนใหญ่ผูกขาดการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น สิ่งที่ประชาชนเคยกระทำกันมาอย่างสร้างสรรค์ จึงต้องกลายเป็นความผิดหรือขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง
หากย้อนไปในสมัยของพระเจ้าฮัมมูราบีแห่งบาบิโลเนีย มีการออกกฎหมายลงโทษประชาชนทั่วไปผู้ต้มเบียร์ไว้อย่างรุนแรง โดยจะจับกดศีรษะให้จมลงในเบียร์ที่ตนเองต้มจนขาดใจตาย ส่วนผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ต้มเบียร์นั้นจะต้องฐานะดีและมีความมั่งคั่ง
ในสังคมไทยก็เช่นกัน แรกเริ่มเดิมที ชาวบ้านแต่ละท้องถิ่นสามารถผลิตเหล้าขึ้นดื่มเองกันเป็นเรื่องปกติ กระทั่งสมัยกรุงศรีอยุธยามีการออกกฎหมายว่าด้วยการจัดเก็บภาษีจากการต้มกลั่นเหล้า ซึ่งเก็บตามจำนวนเตาที่ใช้ต้มกลั่นของชาวบ้าน ครั้นต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ ทางการห้ามมิให้ราษฎรต้มกลั่นเหล้าเอง แต่ได้จัดตั้งโรงต้มกลั่นเหล้าที่ทางการจะคอยดูแลควบคุมและรับผลประโยชน์จากภาษีอากร
ปลายทศวรรรษ 2470 เมื่อมีการก่อตั้งบริษัทผลิตเบียร์แห่งแรกของไทยขึ้นแล้วหนึ่งราย ก็ปรากฏผู้ต้องการจะผลิตเบียร์เพิ่มอีกหลายราย เช่น ชาวจีนอย่างนายลักและนายเปกคังที่จะผลิตเบียร์ด้วยฮ็อพและมอลต์นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ทั้งสองกลับไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสยามให้ผลิต เพราะทางการเกรงว่าคนไทยจะดื่มเบียร์กันจนท้องแตกตาย รวมถึงถ้าอนุญาตให้มีผู้ผลิตหลายรายจะถือเป็นการทำลายสถานภาพที่ดีทางเศรษฐกิจหรือเป็นการฆ่าตัวตายทางเศรษฐกิจ (economic suicide) ทางการสยามยังมองอีกว่าถ้าอนุญาตให้ชาวจีนทั้งสองคนผลิตเบียร์ บางทีอาจจะส่งผลให้บริษัทผลิตเบียร์แห่งแรกโดยคนไทยเกิดความเสียหายเพราะมีคู่แข่ง
กฎหมายที่มักจะถูกนำมาบังคับใช้เพื่อลงโทษชาวบ้านผู้ต้มกลั่นเหล้าด้วยตนเองในเมืองไทยนั้น เริ่มต้นจากกฎหมายตราสามดวงเรื่องน้ำสุรา ซึ่งบัญญัติขึ้นเมื่อ จ.ศ. 1148 (ตรงกับ พ.ศ. 2329) ที่ห้ามราษฎรต้มกลั่นสุราโดยมิได้รับอนุญาต ระวางโทษปรับสินไหม 3 ชั่ง หรือ 240 บาท ถ้าผู้ใดยังกล้าละเมิดกฎหมายอีกก็จะปรับไหมเพิ่มเป็น 9 ชั่ง หรือ 720 บาท
ในปี พ.ศ. 2429 มีการยกเลิกกฎหมายตราสามดวงเรื่องน้ำสุรา และประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีชั้นใน จ.ศ. 1248 เพื่อเปลี่ยนแปลงการเก็บภาษีสุราเสียใหม่ จากเดิมที่มีนายอากรผูกขาดคอยเก็บภาษีตามโรงต้มกลั่นสุราส่งให้กระทรวงพระคลังสินค้า ก็เปลี่ยนมาเป็นการที่รัฐจัดเก็บภาษีสุราเองตามจำนวนดีกรีแอลกอฮอล์ในน้ำสุราโดยใช้อัตราเดียวกันทั้งสุราภายในประเทศและสุราที่นำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2452 รัฐสยามจึงตั้งกรมสุราเพื่อทำหน้าที่จัดเก็บภาษีสุราทั่วประเทศ ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมสรรพสามิตเมื่อปี พ.ศ. 2474
พระราชบัญญัติภาษีชั้นใน จ.ศ. 1248 ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดอีกหลายครั้ง ผลของกฎหมายฉบับนี้คือชาวบ้านจำนวนไม่น้อยตกเป็นผู้ต้องหาแล้วต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาล
ดังเช่น เมื่อปี พ.ศ. 2466 นายกลม ชาวพิษณุโลก ถูกกล่าวหาว่ามีลูกแป้งเพื่อจะนำมาทำเชื้อในการต้มเหล้า แต่เขาต่อสู้คดีจนศาลยกฟ้อง หรือนางอู่ก็โดนกล่าวหาคล้ายๆกันที่นครราชสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2471 เธอต่อสู้จนรอดพ้นคดีมาได้ โดยทั้งสองต่อสู้ว่าการมีเพียงลูกแป้งนั้น ยังไม่ถือว่าแสดงเจตนาจะต้มกลั่นเหล้า
อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวบ้านบางส่วนต่อสู้คดีไม่สำเร็จ เช่นกรณีของนายตุก นายเล็ก และนายเชย ชาวสุราษฎร์ธานี ที่ถูกกล่าวหาว่าต้มกลั่นเหล้าเถื่อนเมื่อปี พ.ศ. 2482 ซึ่งทุกคนต้มกลั่นเหล้าจนสำเร็จแล้ว ศาลจึงถือว่าเข้าข่ายความผิดและต้องรับโทษปรับ
ช่วงทศวรรษ 2490 มีการออกกฎหมายพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 โดยสาระสำคัญคือ ห้ามมิให้ผู้ใดทำสุรา มีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพสามิต จุดประสงค์ของกฎหมายนี้ก็เพื่อให้ประชาชนบริโภคสุราจากโรงงานสุราของรัฐเป็นหลัก เนื่องด้วยช่วงทศวรรษ 2480 รัฐบาลได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมและก่อตั้งโรงงานสุราของรัฐหลายแห่ง
พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ได้บังคับใช้มายาวนานหลายทศวรรษเลยทีเดียว ทำให้ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาว่าต้มกลั่นเหล้าเถื่อนอีกเป็นจำนวนมาก ดังเช่น นางดอกไม้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีเครื่องต้มกลั่นเหล้าเมื่อปี พ.ศ. 2532 และเธอพ่ายแพ้การต่อสู้คดีในชั้นศาลจนต้องได้รับโทษถึงขั้นจำคุก
ในปี พ.ศ. 2535 มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน รัฐบาลจึงใช้นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเบียร์ ทำให้เกิดบริษัทผลิตเบียร์เพิ่มขึ้น และมีการเข้ามาของผู้ผลิตเบียร์จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ประชาชนก็ยังไม่สามารถผลิตเบียร์เองได้
ผลพวงจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งเปิดกว้างให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ จึงปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสุราพื้นบ้านในชุมชนท้องถิ่น เริ่มจากความเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยมีศูนย์กลางที่พะเยาและเชียงราย ก่อนที่กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้จะขยับขยายไปในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และมีการรณรงค์ให้เกิดกฎหมายสุราพื้นบ้านเสรีเมื่อปลายปี พ.ศ. 2541
แม้ช่วงนั้น รัฐบาลจะเห็นชอบให้มีนโยบายสนับสนุนการผลิตและการจำหน่ายสุราตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ทว่าก็ยังมีกฎเกณฑ์ต่างๆที่กีดกันการผลิตสุราของชาวบ้าน และผู้ผลิตสุราเองยังถูกปราบปรามและลงโทษอย่างรุนแรง
กลุ่มสำคัญที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวและประท้วงรัฐบาลอย่างโดดเด่นคือ เครือข่ายเหล้าพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นช่วงต้นปี พ.ศ. 2544 โดยมีการชุมนุมและเสนอให้รัฐบาลยกเลิกพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ที่เป็นเครื่องมือปราบปรามชาวบ้าน ออกกฎหมายพระราชบัญญัติจดแจ้งการผลิตและจำหน่ายเหล้าพื้นบ้านฉบับประชาชน ขอให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาเหล้าพื้นบ้าน และกรมสรรพสามิตต้องผ่อนปรนการจับกุมชาวบ้าน
รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรซึ่งเพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งได้เล็งเห็นว่าข้อเสนอของประชาชนดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวนโยบายของตนที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจระดับรากหญ้าเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม หรือนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ในที่สุด รัฐจึงอนุญาตให้ชาวบ้านผลิตและจำหน่ายสุรากลั่นของท้องถิ่นตนเองหรือ “สุราชุมชน” ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ส่วนพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 นั้นยังมิได้ยกเลิก แต่ก็มีการแก้ไขอีกหลายครั้ง
ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ยังมีการออกกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวมถึงมีการใช้กฎหมายต่างๆอย่างเข้มงวดในการควบคุมและปราบปรามผู้ผลิตเหล้าเบียร์ด้วยตนเอง นำมาสู่การที่ประชาชนหลายรายตกเป็นผู้ต้องหา
บุคคลหนึ่งที่สำคัญคือ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เขาถูกเจ้าหน้าที่สรรพสามิตบุกจับกุมเมื่อปี พ.ศ. 2560 เนื่องจากผลิตคราฟต์เบียร์ด้วยตนเอง และถูกแจ้งข้อกล่าวหาดังนี้
- มีภาชนะสำหรับทำสุราโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
- ทำสุราโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
- มีไว้เพื่อขายซึ่งสุราที่รู้ว่าต้องปิดแสตมป์สุรา แต่ไม่ได้ติดแสตมป์สุรา
- มีไว้ในความครอบครองซึ่งสุราที่รู้ว่าต้องปิดแสตมป์สุรา แต่ไม่ได้ปิดแสตมป์
เข้าข่ายความผิดฐานการทำสุราโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ซึ่งระวางโทษคือจำคุกสองปีและปรับ 5,500 บาท แต่โทษจำคุกรอลงอาญาไว้ เหลือเพียงโทษปรับ
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ธนากร ท้วมเสงี่ยม หรือเบนซ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มประชาชนเบียร์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 ว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม“ จากการโพสต์ข้อความลงในเพจประชาชนเบียร์จำนวน 15 โพสต์ในช่วงตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งจะต้องได้รับโทษปรับเป็นจำนวนเกือบล้านบาท อย่างไรก็ดี ธนากรยืนยันว่าตนจะต่อสู้คดีอย่างถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ว่ากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยเลย จึงสมควรที่ต้องได้รับการแก้ไข
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกรณีที่ ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนราชมงคลธัญบุรี นักวิชาการผู้ร่วมเคลื่อนไหวขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยและพยายามถ่ายทอดความรู้ว่าด้วยการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหลากหลายที่เน้นใช้วัตถุดิบภายในประเทศ รวมถึงยังเป็นแอดมินเพจสุราไทย ซึ่งอาจารย์เจริญเคยแสดงออกถึงการประท้วงกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เป็นธรรมด้วยการเทสุราหน้ารัฐสภา
ยังมีความพยายามต่อสู้กับกฎหมายควบคุมเหล้าเบียร์ด้วยการรวบรวมรายชื่อของประชาชนยื่นเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยคราฟต์เบียร์ไทยในนามสมาคมคราฟต์ เพจสุราไทย และประชาชนเบียร์ ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 กระทั่งในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564 จึงนำรายชื่อประชาชนทั้งหมดจำนวน 11,169 รายชื่อยื่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐสภา
ผู้ที่เคยถูกจับกุมในคดีผลิตคราฟต์เบียร์อย่างเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ยังกลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขาได้เคลื่อนไหวขับเคลื่อนและผลักดันร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตหรืออีกชื่อหนึ่งคือพระราชบัญญัติสุราก้าวหน้า เพื่อทำให้ประชาชนสามารถผลิตเหล้าเบียร์ได้ด้วยตนเอง แม้ตอนแรกร่างดังกล่าวจะไม่ผ่านการลงมติจนทำให้ตกไป
อีกปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวคือการจัดงาน Beer People Festival 2023 เมื่อช่วงวันที่ 11-12 มีนาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ครั้งแรกของประชาชนเบียร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ที่ไม่เป็นธรรม บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยกิจกรรมเสวนาและกิจกรรม workshop ทั้งในเรื่องการผลิตเหล้าเบียร์และข้อกฎหมายต่างๆ อีกทั้งยังรวบรวมเหล้าเบียร์จากทั่วประเทศ 200 แบรนด์ 500 รสชาติมาให้ประชาชนผู้เข้าร่วมงานได้ลิ้มลอง
ประชาชนเบียร์ยังจัดงานเทศกาลดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในปีถัดมา นั่นคือ Beer People Festival 2024 ช่วงวันที่ 2-3 มีนาคม พ.ศ. 2567 ภายใต้แนวคิด “Beer People Country ประเทศดีๆที่ลงตัว” เพื่อชวนประชาชนให้ฝันถึงประเทศที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ถูกผูกขาดจากนายทุนใหญ่ ซึ่งบรรยากาศของงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีการรวบรวมเหล้าเบียร์จากทั่วประเทศมาไว้ในงานเพิ่มขึ้นถึง 500 แบรนด์ 1,000 รสชาติเลยทีเดียว
เร็วๆนี้ก็กำลังจะมีงาน Beer People Festival 2025 จัดขึ้นช่วงวันที่ 7-8-9 มีนาคม พ.ศ. 2568 ซึ่งย่อมจะมีความน่าตื่นเต้นรอคอยทุกท่านอยู่อย่างแน่นอน
ด้วยการต่อสู้เคลื่อนไหวหลายครั้งและความมุ่งมั่นในการเสนอแก้ไขร่างกฎหมายเพื่อให้ประชาชนสามารถจะผลิตเหล้าเบียร์ได้ด้วยตนเองอย่างไม่ย่อท้อตลอดหลายปีล่วงผ่านมา ในที่สุดสัญญาณที่ดีก็ปรากฏ เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติผ่านร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต เพื่อปลดล็อกข้อกำหนดให้ประชาชนผลิตเหล้าเบียร์เพื่อการค้าได้ในช่วงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 นี้เอง
ล่าสุดเลย รัฐบาลเพิ่งจะพิจารณาเพื่อจะให้ยกเลิกข้อกฎหมายการห้ามจำหน่ายเหล้าเบียร์ในช่วงวันพระตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมองว่าย่อมจะเป็นประโยชน์ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งหมดเป็นผลจากการต่อสู้อย่างแข็งขันของประชาชนเพื่อเสรีภาพในเรื่องเหล้าเบียร์มาหลายยุคสมัย
มาย้อนรากเหง้าเรื่องเหล้าเบียร์ในแง่มุมความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างรื่นรมย์นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
Beer People Festival 2025
7-8-9 มีนาคม 2568
เวลา 11.00-23.00 น.
ที่ ช่างชุ่ย Creative Park ปิ่นเกล้า
เข้าร่วมงานฟรี !!
แล้วเจอกัน 🍺
เอกสารอ้างอิง
คำพิพากษาฎีกาที่ 462/2466
คำพิพากษาฎีกาที่ 888/2471
คำพิพากษาฎีกาที่ 741/2482
คำพิพากษาฎีกาที่ 3789/2532
- ไพศาล วิสาโล, พระ. ประวัติศาสตร์การบริโภคสุราในประเทศไทย. กรุงเทพฯ:สถาบันวิจัยสาธารณสุขไทย, 2537.
- เสน่ห์ โพธิปฐม. คำอธิบายพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493. กรุงเทพฯ: กองการสุราและยาสูบ,2526
- Standage, Tom. A History of the World in 6 Glasses. London: Walker Books, 2005